อะฮ์ลุลบัยต์ในอัล-กุรอาน ตอนที่ 4
๔. โองการที่ ๓๗ ซูเราะฮฺบะก่อเราะฮฺ กล่าวถึงสิทธิในการดุาอฺและขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) กล่าวว่า
فَتَلَقَّى آدَمُ مِن رَّبِّهِ كَلِمَاتٍ فَتَابَ عَلَيْهِ إِنَّهُ هُوَ التَّوَّابُ الرَّحِيمُ
“และอาดัมได้เรียนรู้ถ้อยคำจากพระผู้อภิบาลของเขา และพระองค์ทรงอภัยแก่เขา แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงนิรโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ”
โองการดังกล่าวได้ระบุถึงเรื่องราวของท่านนบีอาดัม (อ.) ที่ไม่สมควรรับประทานอาหารบางอย่าง แต่ท่านได้รับประทานเข้าไปจึงเป็นสาเหตุทำให้ท่านต้องถูกห้ามจากนิอฺต่างๆเหล่านั้น ต่อมาท่านศาสดาอาดัม ได้สำนึกในความเลินเล่อของท่าน และด้วยเหตุที่ท่านได้สำนึก ท่านจึ่งได้เรียนรู้ถ้อยคำบางอย่างจากอัลลอฮฺ (ซบ.) อันเป็นสาเหตุทำให้การกลับตัวของท่านอาดัม (อ.) ถูกตอบรับ
จากริวายะฮฺทั้งสุนนีและชีอะฮฺได้รายงานว่า จุดประสงค์ของถ้อยคำที่ท่านศาสดาอาดัม ได้เรียนรู้และได้ทำการเตาบะฮฺด้วยกับถ้อยคำนั้นคือ การตะวัสซุลไปยังสิ่งถูกสร้างที่ดีและประเสริฐที่สุดของอัลลอฮฺ (ซบ.) นั้นคือท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และอะหฺลุบัยตฺของท่าน ดังที่ริวายะฮฺในตัฟซีรฺ ดุรุลมันษูรฺ ได้บันทึกริวายะฮฺจากท่านอิบนุ อับบาสว่า “ท่านศาสดาอาดัมได้ทำให้การขอขมาของท่านถูกตอบรับ โดยท่านได้สาาบานกับอัลลอฮฺด้วยกับนามและสิทธิ์ดังต่อไปนี้
بحق محمد وعلى وفاطمة والحسن والحسين
ด้วยสิทธิของมุฮัมมัด อะลี ฟาฏิมะฮฺ ฮะซัน และฮุซัยนฺ”
บางคนเชื่อว่าจุดประสงค์ของถ้อยคำในโองการนั้นคือ ประโยคที่กล่าวไว้ในซูเราะฮฺอะอฺรอฟที่ว่า
رَبَّنَا ظَلَمْنَا أَنفُسَنَا وَإِن لَّمْ تَغْفِرْ لَنَا وَتَرْحَمْنَا لَنَكُونَنَّ مِنَ الْخَاسِرِينَ
“โอ้พระผู้อภิบาลของเรา พวกเราได้อธรรมแก่ตัวของพวกเราเอง และถ้าพระองค์ไม่ทรงอภัยโทษแก่พวกเรา ไม่เมตตาแก่พวกเรา แน่นอนพวกเราก็ต้องกลายเป็นพวกที่ขาดทุน”