โลกหลังความตาย ตอนที่ 1

“อัรบะอีน” คือการรำลึก 40 วันแห่งอิสลามที่จัดขึ้นครั้งแรกและจัดขึ้นในเรื่องราวที่เกี่ยวกับท่านอิมามฮูเซน (อ) ซึ่งก่อนหน้านี้มีบุคคลมากมายได้เสียชีวิต มีคนดีมากมายได้จากโลกนี้ไป ทั้งบรรดาศาสดาและเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺ (ซบ) แต่เราจะไม่พบว่า มี “อัรบะอีน”

 

 

 

อัลฮัมดุลิลละฮฺ ขอขอบคุณยังเอกองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ที่ทรงประทานเตาฟีกให้กับพวกเราทุกท่าน

 

โดยเฉพาะเตาฟีกในค่ำคืนนี้ เตาฟีกที่ทำให้พวกเรานั้นได้สวมวิญญาณในการร่วมรำลึก อันเป็นการรำลึกที่จะนำมนุษย์ผู้ศรัทธาไปสู่ความเข้าใจในศาสนา ความเข้าใจในอุดมการณ์ของศาสนา ความเข้าใจในเป้าหมายของศาสนา และนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตของเรา เพราะสิ่งนี้คือเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของการรำลึก และนี่คือเป้าหมายที่เราได้เสียสละเวลาในการเดินทาง เสียสละเงินทองต่างๆ เพื่อทำให้เกิดมัจลิสนี้

 

ดังนั้น เมื่อพวกเราได้มาร่วมมัจลิสแล้ว  หากไม่ได้รับเป้าหมายที่แท้จริง หรือไม่ได้ไตร่ตรองเป้าหมายต่างๆ มาปรับปรุงวิถีชีวิตของเราแล้ว การจัดมัจลิสและความเหน็ดเหนื่อยต่างๆ ก็จะมิเกิดประโยชน์อันใด และบางครั้งก็อาจจะเป็นโทษแก่พวกเราก็เป็นได้

 

“อัรบะอีน” คือการรำลึก 40 วันแห่งอิสลามที่จัดขึ้นครั้งแรกและจัดขึ้นในเรื่องราวที่เกี่ยวกับท่านอิมามฮูเซน (อ) ซึ่งก่อนหน้านี้มีบุคคลมากมายได้เสียชีวิต มีคนดีมากมายได้จากโลกนี้ไป ทั้งบรรดาศาสดาและเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺ (ซบ) แต่เราจะไม่พบว่า มี “อัรบะอีน” หรือการจัดรำลึก 40 วันของบุคคลเหล่านั้นเลย แม้กระทั่งการจากไปของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ก็ตาม?

 

แน่นอนว่า การจากไปของท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ) ถือเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ เป็นมุซีบัต (ความเศร้าโศก) ที่ยิ่งใหญ่สำหรับอุมมัต (ประชาชาติ)อิสลาม การจากไปของรอซูลุลลอฮฺคือการตัดขาดของวะห์ยูจากอัลลอฮฺ(ซบ) ที่มีมายังมนุษยชาติ  อันเป็นวะฮฺยูโดยตรงและเป็นวะห์ยูที่ลงมาทั้งหมดเพื่อประกาศให้กับมนุษยชาติได้รับรู้พร้อมๆ กัน ถึงแม้ว่าในความเชื่อของสายธารแห่งอิมามียะฮฺ เชื่อว่า หลังจากนั้นยังมีวะฮฺยูจากอัลลอฮฺ(ซบ) ลงมายังเอาลิยาอฺต่างๆ ของพระองค์แต่เป็นเรื่องพิเศษเรื่องเฉพาะ เป็นสิทธิของเอาลิยาอฺเท่านั้นที่จะบอกกล่าวหรือไม่บอกกล่าว แต่วะห์ยูที่ท่านนบีมุฮัมมัด(ศ) นำมานั้นเป็นหน้าที่ของท่านต้องประกาศ ทุกๆคำพูดและทุกๆ ตัวอักษร อะไรที่อัลลอฮฺ(ซบ) ตรัสมานั้น ท่านนบีมุฮัมมัด(ศ) ก็ต้องพูดทุกคำ แม้แต่บางครั้งคำต่างๆ เหล่านั้นอาจจะไม่มีความจำเป็น อย่างเช่น คำว่า “กุล” ที่อัลลอฮฺพูดกับนบี ที่มีความหมายว่า “มุฮัมมัดจงประกาศเถิด” ถ้าเราพินิจพิจารณาแล้ว ท่านนบี(ศ) ก็สามารถที่จะกล่าวว่า “อัลลอฮฺอะฮัด” ก็ได้ โดยไม่ต้องกล่าวคำว่า “กุล” แต่เมื่ออัลลอฮฺพูดกับนบีว่า “กุล” ท่านนบีมุฮัมมัด(ศ) ก็ต้องถ่ายทอดคำว่า “กุล” ด้วย  นั่นชี้ให้เห็นถึงภาระหน้าที่ในการเผยแผ่ วะฮฺยู  หน้าที่ในการประกาศวะห์ยูของท่านนบี มุฮัมมัด(ศ) ทุกครั้งที่อัลลอฮฺ(ซบ) ตรัสกับท่านนบี(ศ) ทุกคำที่ท่านได้รับมานั้น ท่านนบีก็จะถ่ายทอดมายังมวลมนุษยชาติ

 

ดังนั้นเราจะเห็นว่าบรรดาผู้ศรัทธา บรรดาเอาลิยาอฺ  บรรดาอุลามาอฺ จึงถือว่าการจากไปของท่านนบีมุฮัมมัด(ศ) คือ       มุซีบัตที่ยิ่งใหญ่ เพราะสื่อของพระเจ้า สื่อทางด้านรูปแบบของพระองค์ได้สิ้นสุดลง หากแต่เมื่อท่านนบีจากไปก็ไม่มี ริวายัต ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงการรำลึกถึง 40 วัน ?

 

แต่ตรงนี้ไม่ได้บอกว่านบีไม่ยิ่งใหญ่นะพี่น้อง!   อันที่จริงแล้วนบีนั้นยิ่งใหญ่เหนือทุกสรรพสิ่ง   เหนือผู้ใดทั้งหมดที่ถูกสร้างมาในโลกนี้ หากแต่มันมีเรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่า!

 

โดยที่ท่านนบีเป็นผู้ประกาศและสนับสนุนในเรื่องราวความยิ่งใหญ่อันนี้ !

 

นั่นคือ  เรื่องราวของ อิมามฮูเซน(อ) นั่นเอง !

 

“อัรบะอีน” 40 วันนั้น เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับบทบาทการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮฺเซน (อ) ซึ่งแน่นอนย่อมมีคำถามว่า ทำไม “อัรบะอีนรำลึก” นั้นจึงไม่เลือกการเป็น “ชะฮีด” ของบุคคลอื่น?

 

ทำไมไม่เลือกการเป็นชะฮีดของอิมามอะลี(อ)? ทำไมไม่เลือกการเป็น ชะฮีดของอิมามฮะซัน อัลมุจตาบา(อ)??? ทำไมไม่เลือกการเป็นชะฮีดของท่านหญิงฟาติมะฮฺ (อ)?

 

แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมมี “ฮิกมัต”

 

มีเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮฺเซน (อ) และนี่คือความสำคัญในตัวเลข “40”

 

หลังจากท่าน อิมามฮูเซน(อ) แล้ว เราก็ยังมีอิมามอีก 7 ท่าน  ซึ่งได้เป็นชะฮีด หลังจากอิมามฮูเซน(อ) แต่ก็ไม่มีคำสั่งใดๆ ในการรำลึก 40 วันของบรรดาอิมามเหล่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรามีแต่คำสั่งให้รำลึกถึงวันการเป็นชะฮาดัดของอิมาม ฮูเซน(อ)

 

บรรดาอิมาม ท่านนบี และอะฮฺลุลบัยตฺ(อ) ก็สงวนให้จัดอัรบะอีนเพื่อการรำลึกถึงอิมามฮูเซน(อ) เท่านั้น เพื่อต้องการชี้ถึงความยิ่งใหญ่ของท่านอิมามฮูเซน(อ) แต่ว่าทำไมไม่มีการจัดการรำลึกถึงอิมามท่านอื่นๆ และอิมามท่านอื่นๆ นั้นก็มีความยิ่งใหญ่เหมือนกันท่านอิมามฮูเซน (อ) ?

 

การรำลึกอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1-10 มุฮัรรอม และวันสุดท้ายของการรำลึกคือวันที่ 40  คือวันนี้ อันเป็นวันแห่งการสรุป ว่าอะไรคือเป้าหมายของการของการรำลึก?

 

จริงๆ แล้ว เรามีคำสั่งเสียต่างๆ มากมาย ในประเด็นความสำคัญของการรำลึกถึงอัรบะอีน และการรำลึกถึง 40 วันนั้น  เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่แท้จริงของผู้ ศรัทธา

 

มีฮะดิษบทหนึ่งของท่านอิมามมูซา กาซิม(อ) ได้กล่าวเอาไว้ว่า คุณลักษณะของผู้ศรัทธาที่แท้จริง มีอยู่ 5 ประการ     ผู้ใดที่อยากจะเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริงเขาจะต้องมีคุณสมบัติ 5 ประการดังนี้

 

 1 การอ่าน “บิสมิลลาฮฺ” เสียงดังในทุกนมาซของเขา และยังเป็นคุณลักษณะพิเศษของชีอะฮฺ

 

2 บุคคลที่นมาซครบ 51 รอกะอัต

 

3 การสวมแหวน อะกี๊ก (เป้าหมายคือสร้างสัญลักษณ์ ให้กับชีอะฮฺ)

 

4 สุญูดบนดินกัรบาลา

 

5 บุคคลที่อ่านซิยารัต “อัรบะอีน” ตลอดเวลา

 

นี่คือ 5 ประการ ในการจะสร้างให้เป็นผู้ศรัทธาอย่างแท้จริง และการเป็นมุอฺมิน ที่แท้จริงนั้นมันเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอิมามฮูเซน (อ.)  ดังนั้นการร่วมรำลึกอย่างเป็นทางการให้กับท่านอิมามฮูเซน (อ.) ก็คือ 50 วัน  ตั้งแต่วันที่ 1 มุฮัรรอม จนถึง 20 ศอฟัร เป็นเวลา 50 วัน ส่วนในวันที่ 1-10 มุฮัรรอมนั้นแน่นอนการรำลึกจะมีอยู่ในทุกที่ทุกแห่ง แต่หลังจากนั้นบางที่ก็อาจจะมี….หรือไม่มีก็แล้วแต่ละพื้นที่ แต่การรำลึกถึงอิมามฮูเซน(อ) ต้องให้ครบ  40 วัน

 

ส่วนการรำลึกตั้งแต่วันที่ 10 มุฮัรรอม จนถึง อัรบะอีน นั้น  ก็มีริวายะฮฺ จากบรรดาอิมาม(อ) ที่กล่าวไว้  ซึ่งอย่างน้อยที่สุดให้เราอ่าน ซิยารัตอาชูรอ 40 วัน กล่าวคือ ถึงแม้นว่าเราจะไม่ได้ร่วมรำลึกตลอดสี่สิบวัน แต่ก็ให้อ่านซิยารัตอาชูรอ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ ผูกจิตวิญญาณของเราให้อยู่กับเรื่องราวของอิมามฮูเซน(อ) ให้มากที่สุด ให้เรารักกับวีรกรรมอันนี้ และยังมีนัยยะต่างๆ อีกมากมาย  ในการให้อ่านซิยารัตอาชูรอ เพื่อให้เป็นนักต่อสู้ เป็นนักเสียสละ เพื่อให้มีจิตวิญญาณแห่งกัรบาลา ชีวิตและจิตวิญญาณแบบนี้ก็จะเข้ามาในชีวิตของเรา เพราะเรื่องราวในลักษณะนี้มีเพียงเรื่องราวของอิมามฮูเซน(อ) เท่านั้น  !

 

จุดประสงค์และเป้าหมายของการปฏิวัติเลือดของอิมามฮูเซน(อ) นั้นมัน  ยิ่งใหญ่  ยิ่งใหญ่ถึงขั้นที่สามารถนำไปสู่การปฏิวัติโลก! บางครั้งท่านอิมามได้ชโลมเลือดที่หลั่งไหลออกมาด้วยความภาคภูมิใจ  บางครั้งสาดเลือดขึ้นสู่ท้องฟ้า  บางครั้งเอามือรองเลือดแล้วลูบบนใบหน้า นั่นคือความหมายของคำว่า “การปฏิวัติเลือด” และเป็นการปฏิวัติเดียวเท่านั้นที่ให้ความสมบูรณ์แบบ

 

ในบทซิยารัต ที่มีการให้สลามถึงอิมามฮูเซน(อ)  จะกล่าวให้สลามว่า   “ยาซารัลลอฮ” อันมีความหมายว่า “โอ้หนี้เลือด ของอัลลอฮฺ”

 

บรรดาอิมามทั้งหมดได้มอบความยิ่งใหญ่ให้กับอิมามฮูเซน(อ) เพราะเป็นการปฏิวัติเลือด มุ่งสู่การปฏิวัติโลก!!!! สัจธรรมอันหนึ่งที่ได้รับการยืนยันจากทุกๆศาสดาว่า วันหนึ่งโลกนี้จะต้องถูกปฏิวัติโดยอิสลาม ซุนนะฮฺของท่านนบี (ศ) ที่แท้จริงจะต้องเกิดขึ้นทั้งโลก มีฮะดิษบทเดียวที่ท่านนบี(ศ) กล่าวว่า  ท่านอิมามมะฮฺดี(อ) จะมาเติมเต็มโลกนี้ด้วยความสันติและความยุติธรรม หลังจากที่มันเต็มไปด้วยความอยุติธรรม และการกดขี่ นี่คือการปฏิวัติโลกพี่น้อง !

 

ทว่า การปฏิวัติโลกได้มาจากไหนพี่น้อง !  ก่อตัวจากแหล่งใด? พลังของมันคืออะไร?

 

เรามีฮะดิษมากมายกล่าวว่า การปฏิวัติโลกจะไม่มีวันเกิดขึ้นถ้าไม่มีกัรบาลา! นี่คือพลังที่ยิ่งใหญ่ และเมื่อสองสิ่งนี้ถูกนำเสนอ และทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ให้กับมนุษยชาติแล้ว ก็จะไม่มีใครสามารถขัดขวางการปฏิวัติอันนี้ได้ ไม่มีพลังใดๆ อีกที่สามารถทำลายได้ ซึ่งเหตุการณ์และวันเวลาเป็นตัวพิสูจน์ นั่นคือการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน คือบทพิสูจน์ว่า  เมื่อความเชื่อว่าการปฏิวัติโลกมีอยู่เต็มหัวใจ บวกกับความเข้าใจในการปฏิวัติเลือดรัฐอิสลามอันบริสุทธิ์ก็จะเกิดขึ้น

 

เมื่อชีอะฮฺเพียงน้อยนิด ลุกขึ้นต่อสู้ภายใต้ชื่อ “ฮิซบุลลอฮฺ” โดยทำความเข้าใจกับอุมมะฮฺของเขาถึงสองสิ่งนี้ คือ “การปฏิวัติโลก” และ “การปฏิวัติเลือด” ความยิ่งใหญ่จึงเกิดขึ้น ชัยชนะของฮิซบุลลอฮฺเหนืออิสราเอลก็เกิดขึ้น หลังจากชัยชนะของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน และฮิซบุลลอฮฺแล้ว สองเหตุการณ์นี้ ก็ได้ทำลายขวัญของศัตรูเป็นอย่างมาก ศัตรูไม่สามารถทีจะสู้และต่อกรกับอิสลาม ตามวิถีทางธรรมชาติของมันได้ต่อไปอีกแล้วพี่น้อง!

 

ดังนั้น จึงต้องหาการขจัด ต้องหาแผนการในการทำลาย ให้สองสิ่งนี้ออกไปจากชีอะฮฺให้ได้  มติของศัตรูเป็นเอกฉันท์ว่า  เราจะไม่ปล่อยไปตามวิถีทางนี้  ตามความเชื่อ ความศรัทธา ที่มีในอัล-กุรอาน ที่พระองค์ทรงสัญญาวันหนึ่งผู้ที่ถูกกดขี่จะต้องเป็นอิมาม เป็นผู้นำบนหน้าแผ่นดินนี้

 

ดังนั้น บรรดาศัตรูจึงตระเตรียมสารพัดวิธีในการทำลายหลักความเชื่อในเรื่องนี้ นั่นคือทำลายการปฏิวัติเลือด(ขบวนการของท่านอิมามฮูเซน(อ) และขบวนการปฏิวัติโลกของท่านอิมามมะฮฺดี(อ)!!

 

كُلُّ نَفْسٍ ذَائِقَةُ الْمَوْتِ

 

“ทุกชีวิตนั้น จะต้องลิ้มรสแห่งความตาย”

 

เบื้องต้นก่อนที่เราจะเข้าสู่เนื้อหาว่าด้วยการ “ทำบุญสี่สิบวัน” นั้น เราจะมาทำความเข้าใจในฮะดีษบทหนึ่งที่ท่านศาสดา (ศ) ได้กล่าวว่า

 

“ถ้าดุนยานี้ ในทัศนะของพระเจ้านั้น มีค่าเท่ากับปีกของแมลงวันหรือ แมลงหวี่แล้วไซร้ แน่นอนอัลลอฮฺ (ซบ) จะไม่ทรงให้กาเฟรได้ดื่มน้ำเลยแม้แต่หยดเดียวในโลกนี้”

 

แต่เนื่องจากในทัศนะขององค์อัลลอฮฺ(ซบ) ดุนยาไม่มีค่าแม้เพียงเท่ากับปีกของแมลงวันหรือแมลงหวี่ ด้วยเหตุนี้คนกาเฟรหรือคนชั่วจึงได้รับสิ่งต่างๆ ใน ดุนยาอย่างมากมาย

 

ดังนั้น เมื่อเราเห็นมนุษย์ในโลกนี้ดำเนินชีวิตอย่างสุขสบาย มีทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เขาต้องการ อัลลอฮฺ(ซบ) ก็จะทรงให้เขาได้ลิ้มรสกับสิ่งนี้เหล่านี้ เพราะโลกนี้มันไม่มีค่าใดๆ สำหรับพระองค์

 

ดังนั้น การที่มนุษย์คนหนึ่งคนใดร่ำรวยมหาศาล มีเงินทองทรัพย์สมบัติอย่างมากมาย มีความสุขความสบายในทุกด้าน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าอัลลอฮฺ(ซบ) ทรงรักมนุษย์คนนั้น !

 

ในด้านตรงกันข้ามก็เช่นกัน ไม่ได้หมายความว่า คนที่ยากจน คนที่ข้นแค้น  คนที่ดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก คนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำนั้น จะเป็นคนที่อัลลอฮฺ(ซบ) ไม่รัก จะเป็นคนที่อัลลอฮฺ(ซบ) ไม่ต้องการ หรือเป็นคนที่อัลลอฮฺไม่ยอมรับเขา

 

ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้หาใช่ว่าเป็นสัจธรรมอันใดในอิสลาม ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ทั้งสองอย่าง

 

ในเบื้องต้นเราต้องสร้างทัศนะคติที่ถูกต้องและสมบูรณ์เสียก่อนว่า เรามีชีวิตในโลกนี้เพื่ออะไร? เพื่อสิ่งใด? เกิดมาทำไม?  ซึ่งอัลลอฮฺ(ซบ) ได้บอกกล่าวตั้งแต่แรกแล้วว่า อย่าเข้าใจผิดในการใช้ชีวิตบนโลกดุนยานี้ อย่าได้คิดว่า เมื่อขออะไรแล้วได้ นั่นแสดงว่าพระองค์รัก และอย่าคิดว่าเมื่อขออะไรแล้วไม่ได้ แสดงว่าพระองค์เกลียด    เพราะอัลลอฮฺ (ซบ) ทรงตรัสว่า ไม่ใช่เช่นนั้น !  

 

فَأَمَّا الإنْسَانُ إِذَا مَا ابْتَلاهُ رَبُّهُ فَأَكْرَمَهُ وَنَعَّمَهُ فَيَقُولُ رَبِّي أَكْرَمَنِ (١٥)

 

وَأَمَّا إِذَا مَا ابْتَلاهُ فَقَدَرَ عَلَيْهِ رِزْقَهُ فَيَقُولُ رَبِّي أَهَانَنِ (١٦)

 

“ส่วนมนุษย์นั้น เมื่อพระเจ้าของเขาทรงทดสอบเขา โดยทรงให้เกียรติเขาและทรงโปรดปรานเขา เขาก็จะกล่าวว่าพระเจ้าของฉันทรงยกย่องฉัน แต่ครั้นเมื่อพระองค์ทรงทดสอบเขาทรงให้การครองชีพของเขา เป็นที่คับแคบแก่เขา เขาก็จะกล่าวว่า พระเจ้าของฉันทรงเหยียดหยามฉัน” (ซูเราะฮ์ฟัจร์ โองการที่ 15-16)

 

กล่าวคือ มนุษย์ส่วนหนึ่งเมื่ออัลลอฮฺ ทำให้เขามีเกียรติ หรือให้เขาได้รับ   “เนี๊ยะมัต” ต่างๆ เขาจะกล่าวในทันทีว่า อัลลอฮฺทรงรักฉัน แต่เมื่อพระองค์ต้องการจะทดสอบเขา ด้วยการกำหนดและควบคุมจำกัดริซกีของเขา เขาก็จะกล่าวว่าอัลลอฮฺ (ซบ) ไม่ทรงรักฉันแล้ว อัลลอฮฺ (ซบ) ทรงเกลียดฉันแล้ว และมนุษย์มักจะมีความคิดเช่นนี้อยู่เสมอ!

 

แต่ทว่าอัลลอฮฺ(ซบ) กล่าวว่า มันไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ความสุขบนโลกนี้  ความสบายในโลกนี้ ความทุกข์ในโลกนี้นั้น มันไม่ใช่ตัวชี้วัด มันไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ว่าอัลลอฮฺ(ซบ) ทรงรักหรืออัลลอฮฺ(ซบ) ทรงเกลียด มันไม่ใช่มาตรวัดอย่างที่เราคิด

 

ติดตามอ่านต่อ  โลกหลังความตาย (ตอนที่2)

ที่มา - www.syedsulaiman.com

 

แสดงความเห็น