วิชาตัฟซีร(การอรรถาธิบาย)พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ไชฏอนศึกษา บทเรียนที่ 2 ตอนที่ 1

วิชาตัฟซีร(การอรรถาธิบาย)พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน

 

ไชฏอนศึกษา บทเรียนที่ 2 ตอนที่ 1

اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم

 

ก่อนอื่นขอชูโกรในเนียะมัตและเตาฟิกต่างๆ ที่เอกองค์อัลลอฮ์(ซบ.)ได้ประทานให้กับพวกเราทุกๆคน โดยเฉพาะเนียะมัตและเตาฟิกในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆของศาสนาและได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเนื้อหาต่างๆ ที่มีอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน คัมภีร์ที่เป็นธรรมนูญของชีวิตของผู้ศรัทธาทุกคน คัมภีร์ที่ถูกส่งลงมาเพื่อชี้นำมนุษยชาติไปสู่จุดสูงสุดของการเป็นมนุษย์ และ จุดสูงสุดของการเป็นมนุษย์นั้นสูงกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง สูงกว่าทุกๆสรรพสิ่ง ที่เอกองค์อัลลอฮ์ (ซบ)ได้สร้าง ถึงขั้นที่ว่าสูงกว่าสวรรค์

 

ดังนั้น เราถูกสร้างมาไม่เพียงแต่เข้าสวรรค์ แต่ทว่ามนุษย์สามารพัฒนาไปได้ไกลถึงขั้นที่ว่าสูงกว่าสวรรค์

 

‘เขาไม่ใช่ผู้เรียกร้องสวรรค์ แต่สวรรค์จะเรียกร้องหาพวกเขา’

 

ซึ่งอินชาอัลลอฮ์ในรายละเอียดเหล่านี้ เมื่อถึงเวลาของมันก็จะอธิบายให้กับพี่น้องได้รับฟัง

 

ก่อนที่เข้าสู่รายละเอียดในหัวข้อของการเรียน ก็ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องทุกๆคนเนื่องในโอกาสที่เข้าสู่เดือนรอบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนถือกำเนิดของ จิตวิญญาณ (روح)ของศาสดา เป็นเดือนที่ถือกำเนิดของบรมศาสดา ศาสดาที่ยิ่งใหญ่ ศาสดาที่อยู่ในตำแหน่งประมุขของทุกๆศาสดา ศาสดาที่อัลลอฮ์ (ซบ) ทรงขนานนามว่า…

 

( ﺳﻴﺪ ﺍﻷﻧﺒﻴﺎﺀ ﻭﺍﻟﻤﺮﺳﻠﻴﻦ )

 

♔ ผู้เป็นประมุขของบรรดานบีและบรรดารอซูลต่างๆ ♔

 

เพื่อแสดงความรัก แสดงความจงรักภักดีกับศาสดา ก็ให้เราอยู่ในสภาพของผู้ที่เฉลิมฉลอง ผู้ที่ปลาบปลื้ม ในเดือนอันยิ่งใหญ่อันนี้

 

แบบฉบับของอาลิมอูลามาอฺ ก็ได้ทำการรำลึกกันในเดือนนี้ ในรูปแบบต่างๆอาจจะเป็นการทำบุญ การศอลาวาต คำอวยพรต่างๆหรือการอ่านบัรซันญี สิ่งต่างๆเหล่านี้จะต้องคงอยู่หรือธำรงไว้ตลอดไป

 

ตราบใดที่การรำลึกในรูปลักษณะนี้ยังคงอยู่ ก็จะไม่มีใครที่สามารถมาขโมยศาสดาออกจากดวงใจของผู้ศรัทธาได้ อาจจะมีกลุ่มหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็นมุสลิม ก็จะต่อต้านสิ่งต่างๆเหล่านี้ทั้งที่รู้และที่ไม่รู้ ในการกระทำของพวกเขานั้น เขาไม่รู้เป้าหมายของผู้ที่คิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้นมา คิดเรื่องราวที่ต่อต้านการจัดงานเมาลิด

 

จริงๆแล้วผู้ที่คิดและสร้างทฤษฏีเหล่านี้ขึ้นมานั้น คือ บุคคลที่วางแผนที่จะทำให้มวลมุสลิมนั้น ลืมการรำลึกถึงศาสดา

 

อินชาอัลลอฮ อีกเช่นกัน ถ้าอยู่ในหัวข้อของมัน ก็จะมีรายละเอียดมากกว่านี้

 

กลับมาเข้าสู่บทเรียน การตัฟซีรกุรอาน

 

จะชี้แจงพี่น้องสักนิดหนึ่งว่า เราไม่ได้ทำการตัฟซีรอย่างสมบูรณ์หรือครบถ้วน ถึงกระบวนความทั้งหมดของมัน เราเพียงแค่เอาความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและก็อธิบายความหมายลึกซึ้งไปแค่อีกหนึ่งประตู เพื่อที่เราเข้าจะเข้าอีกชั้นหนึ่ง เพราะมัญจลิสแรก เราได้บอกไปว่าอัลกุรอานนั้นมีความหมายลึกซึ้งเป็นอย่างมาก

 

บางโองการ บางประโยคในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานนั้นสามารถตีความได้ถึง 70 ความหมาย และทั้ง 70 ความหมายของมันนั้น คือ ถูกต้องทุกๆความหมาย แต่อันนี้เราจะกล่าวว่า การตัฟซีรในระดับของประชาชน เพื่อที่เรานั้น เมื่ออ่านอัลกุรอาน จะได้ใช้ประโยชน์จากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานในการชี้นำ ในการชี้นำวิถีชีวิตของเรา ในการทำความเข้าใจเนื้อหาหรือสิ่งที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ต้องการจะบอกกับเรา ต้องการที่จะเตือนเรา คือ ให้เราได้ประโยชน์จากอัลกุรอานอย่างแท้จริง

 

♔ ประโยชน์ที่ได้จากอัลกุรอานอย่างแท้จริง ♔

 

การทำความเข้าใจความหมายต่างๆของมัน นอกจากการแปล เราก็จะอธิบายมากกว่าการแปลนิดหนึ่ง ผมขอยืนยันว่า เป็นการอธิบายมากกว่าการแปลทั่วๆไป

 

ซึ่งการอธิบายมากกว่าการแปลนั้น คือ ‘การตัฟซีร’ การอรรถาธิบาย ไม่ใช่อรรถาธิบายเพียงอย่างเดียว แต่ขอย้ำอีกครั้งว่าไม่ได้เป็นการตัฟซีรอัลกุรอานในขั้นตอนที่ลึกซึ้ง เพราะถ้าขั้นตอนที่ลึกซึ้งนั้นเป็นหน้าที่บรรดาอาลิมอุลามาอฺ และผู้เรียนก็เหมือนกัน จะต้องเป็นผู้เรียนที่เป็นอาเล็ม อุลามาอฺ ต้องเข้าใจวิชาพื้นฐานหลายๆวิชา จึงสามารถเข้าไปตัฟซีรได้

 

ดังนั้น ก็ขอชี้แจงเพื่อจะอธิบาย ในบางอายะฮ์ซึ่งมีความสำคัญที่จะต้องลงไปลึกซึ้งมากกว่านั้น อินชาอัลลอฮ์ ก็จะนำเสนอกับพี่น้องเพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น วันนี้พี่น้องก็จะเห็นว่า การอธิบายมากกว่าการแปลและการตัฟซีรนั้นเป็นอย่างไร?

 

ซึ่งวิธีการตัฟซีร เราก็เรียก

 

การตัฟซีร “เมาฏูอี” ( موضوعی ) คือ เลือกเอาเรื่องราวต่างๆที่มีอยู่ในระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน มาเลือกตัฟซีร เป็นการอธิบายตามหัวข้อ

 

ซึ่งจริงๆแล้ว ถ้าเราดูประวัติศาสตร์ของการลงมาของพระมหาคัมภีร์ของอัลกุรอาน อัลกุรอานก็จะลงมาแบบ(موضوعي ) อัลกุรอานไม่ได้ลงมาแบบ (ترتيبى ) กล่าว คือ เมื่อเกิดเรื่องหนึ่งขึ้นมาอัลลอฮ์ (ซบ.) ก็จะลงวะฮฺยูให้กับรอซูลุลลอฮ์ (ศ็อลฯ))เพื่อคลี่คลายปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น หรือ เมื่อมีคำถามหนึ่งคำถามใด ที่ถูกถามกับรอซูลุลลอฮ์ (ศ็อลฯ)) อัลลอฮ์ (ซบ.) ก็จะลงวะฮฺยูซึ่งเป็นคำตอบของคำถามนั้น หรือเมื่อเกิดปัญหาหนึ่งปัญหาใดอัลลอฮ (ซบ).ก็จะลงวะฮฺยู เพราะฉะนั้นบนความหมายจริงๆแล้วของอัลกุรอานนั้นก็ลงมาแบบเมาฏูอี (موضوعي )ไม่ได้ลงมาแบบตัรตีบี (ترتيبي )

การลงมาแบบเมาฏูอี (موضوعي )คือ การลงมาตามเรื่องราว ลงมาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราจะเห็นในซูเราะฮ์เดียวกัน เช่น ซูเราะฮใหญ่ๆ โองการนี้ลงมาที่มะดีนะฮ์ โองการนี้ลงที่มัสยิดนั้น โองการนี้ลงตรงนั้น คือ ไม่ได้ลงตรงวันและเวลา และระหว่างการลงมา เช่นโองการนี้ของอัลบากอเราะฮ์ ลงตรงนี้ พรุ่งนี้อีกโองการหนึ่งซึ่งอยู่ในโองการหนึ่งในซูเราะฮ์เตาบะฮ์ก็มาลงอีกที่ ส่วนการเรียงลำดับนั้น ก็เป็นคำสั่งจากรอซูลุลลอฮ์ (ศ็อลฯ)

 

การลงมาแบบเมาฎูอี(موضوعي ) เป็นศาสตร์หนึ่ง หรือ เทคนิคหนึ่ง ในการรักษาพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและก็เป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้งเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น เราจะทำการอรรถาธิบายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ที่เป็นเป้าหมาย คือ ที่ต้องการให้ระดับประชาชนคนทั่วไป สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ด้วย

 

ดังนั้น การตัฟซีรแบบเมาฏูอี จึงเป็นตัฟซีรที่เหมาะสมที่สุด

 

เราจะทำการศึกษาภาวะของสังคมอะไรต่างๆ เราก็ไปดูว่าเรื่องนี้อัลกุรอานได้พูดไว้อย่างไรบ้าง ลงมาอยู่ตรงอายะฮ์นี้บ้าง อยู่ในซูเราะฮ์นั้นบ้าง เราก็จะได้รายละเอียด รอซูลุลลอฮ์ (ศ็อล)ก็เอามารวบรวมให้เป็นคำตอบของเรื่อง หลังจากนี้เราจะอธิบายความหมายของคำว่าตัฟซีรเมาฏูอี และนำเสนอ เราก็จะได้รายละเอียดในระดับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนั้นอย่างสมบูรณ์ แบบที่เคยมีอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

เหตุผลที่เรื่องของไชฏอนเป็นเมาฏูอฺแรก ที่เราถือเป็นปฐมบทที่จะต้องเริ่มเรียนก่อนนั้น เพราะถือว่าผู้ศรัทธาทุกคน สมควรที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพราะอัลกุรอานพูดเรื่องของไชฏอนอย่างสมบูรณ์ ขอใช้คำธรรมดาๆว่าพูดไว้อย่างแยบยลเป็นอย่างมาก เพื่อให้มนุษย์นั้นได้รู้จักและเข้าใจถึงแผนร้ายของมารร้ายตัวนี้และจะได้หาวิธีในการที่จะต่อสู้กับแผนของมันต่างๆ

 

ดังนั้น ในบทเรียนแรก เราก็ได้นำเสนอภายใต้หัวข้อ “กำเนิดซาตาน” หรือกำเนิด (อิบลิส) ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการกำเนิด มารร้ายตัวนี้เป็นมาอย่างไร? และพฤติกรรมของมันนั้นเป็นเช่นไร ?

 

ซึ่งเราก็ได้นำเสนอรายละเอียดไปบ้างแล้ว จนกระทั่งมาถึงโองการสุดท้ายที่อัลลอฮ์ (ซบ) ได้ผลักมันลงมาจากฟากฟ้า และทีนี้ก็เข้าสู่หัวข้อที่สอง ซึ่งหลังจากที่ได้ผลักลงมาตามที่มีในริวายะห์ อัลลอฮ์ (ซบ)ก็ได้เตรียมการที่จะลงโทษ เมื่อไชฏอนรู้ว่าตัวเองนั้น จะต้องถูกลงโทษก็ได้ขออุทธรณ์ต่อเอกองค์อัลลอฮ์ (ซบ) ซึ่งเป็นบทเรียนที่เราจะต้องเรียนในวันนี้

 

ก่อนอื่น ขอเตือนสำทับพี่น้องสักนิดหนึ่งว่า …

 

– เอกสารที่เราทำแจกนั้นเป็นตัวพิมพ์ของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เมื่อเรานำกลับไปบ้านก็โปรดดูแลด้วย ซึ่งอัลกุรอานก็มีฮูก่มเฉพาะของมัน เพราะอัลกุรอานนั้น มีกฎเกณฑ์ของการให้เกียรติ ถ้าคนที่มีน้ำนมาซ มือจับได้ ดูได้ อ่านได้ แต่ถ้าเราไม่มีน้ำนมาซ ก็อย่าให้มือของเราไปโดนตัวเขียนที่เป็นภาษาอาหรับ

 

– เราควรเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งนี้จริงๆแล้วเป็นวัฒนธรรมมาแต่เดิม ผมจำได้ตอนเด็กๆเวลาไปเรียนอัลกุรอาน ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะบอกว่าให้ทูลอัลกุรอานเวลาไปเรียน อย่าเอาอัลกุรอานเหน็บเอาไว้ที่รักแร้

 

ซึ่งพวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ ก็อาจจะผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว ซึ่งต่างจากลัทธิแปลกปลอม ซึ่งคิดว่าอัลกุรอานนั้นคือ กระดาษแผ่นหนึ่ง จะตั้งบนรองเท้าก็ได้ อ่านแล้ววางตรงซอกเข่า ถ้าจะพูดหยาบๆบางคนในลัทธิแปลกปลอมตั้งไว้บนส้นตีนก็มี คือ มันจะทำลายทุกความศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในศาสนา

 

ซึ่งอัลกุรอานก็เป็นเป้าหมายหนึ่ง ซึ่งพวกเขามักจะพูดว่า มันคือ กระดาษ เหมือนกระดาษทั่วๆไป การจูบเป็นชีริกบ้าง การจูบเป็นบิดอะฮ์บ้าง พวกมันบอกว่าท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อล)ไม่เคยจูบ อะไรต่างๆมากมาย โดยเอาฮะดิษโน้น ฮะดิษนี้มาอ้างอะไรต่างๆ ให้สับสนปนเปกันมั่วไปหมด แต่เรามีหลักฐานจากฮะดิษว่า…

ท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ)ให้เกียรติกับคัมภีร์อัลกุรอาน

 

เรามีรีวายะฮ์ มีฮะดิษว่า ก่อนจะอ่านกุรอานนั้นให้ก้มลงไปจูบกระดาษ ที่บันทึกวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เมื่ออ่านเสร็จแล้วให้จูบอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ขอฝาก… อย่าคิดว่ามันเป็นเพียงกระดาษ ที่เราจะตั้งตรงไหนก็ได้ แทนที่เราจะได้บารอกัตในการอ่านกุรอาน เราอาจจะถูกสาปแช่งเพราะการที่เราไม่ให้เกียรติอัลกุรอานก็เป็นได้

♔ บทเรียน “คำอุทธรณ์ของอิบลิส” ♔

 

‘อิบลิส’ก็มีความฉลาด แต่ว่าเป็นความฉลาดที่ไม่สามารถเอาตัวรอด มันรู้ถึงความเมตตา รู้ถึงการให้โอกาสของอัลลอฮ์(ซบ) แต่มันโง่ไปนิดหนึ่ง คือ มันไม่รู้หรือมันไม่เชื่อว่าเอกองค์อัลลอฮ์(ซบ)นั้นฉลาดกว่า

 

เมื่อมันเห็นว่าอัลลอฮ์(ซบ)กำลังจะลงโทษมัน มันก็ขอคำอุทธรณ์ ขออุทธรณ์กับพระองค์ ว่าอย่าเพิ่งลงโทษมันเลย และ ขอโอกาสจากอัลลอฮ์(ซบ)

 

โดยในเบื้องต้น มันก็ไม่ได้บอกว่ามันขอโอกาส คือ มันขอโอกาสก่อน แต่ไม่ได้บอกว่าขอโอกาสเพื่ออะไร ซึ่งคำที่มันขอโอกาสนั้นก็ได้ถูกบันทึกไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน คือมันได้กล่าวไว้

(อันนี้คือ ผมรวบรวมอัลกุรอานแบบเรียงขั้นตอนตามเหตุการณ์)

ตั้งแต่มันไม่ยอมซูญูด

 

♔ เหตุผลของการไม่ยอมซูญูด ♔

 

เมื่ออัลลอฮ์(ซบ.)ถามมันแล้ว มันก็ยังคงยืนยันที่จะไม่ยอมซูญูด เมื่ออัลลอฮ์(ซบ.)ได้เปิดโอกาสให้มันแล้ว ในการที่จะกลับตัว แต่แล้วมันก็ไม่กลับตัว

 

เมื่อถึงบริบทแห่งการลงโทษ มันก็ขอโอกาสจากอัลลอฮ์(ซบ) คือ ถ้าเราฟังแค่นี้ คือ มันก็ดี มันขอโอกาส คือ มันได้กล่าวกับอัลลอฮ์(ซบ)ว่า…

 

قال رب فأنظرني الى يوم يبعثون

 

“โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน”

 

ถ้าจะลงลึกสักนิดหนึ่ง ประโยคนี้ ‘อิบลิส’มันก็เชื่อว่าอัลลอฮ์(ซบ) เป็นพระผู้อภิบาล เป็น رب ของมัน

 

ร็อบบี ก็คือ ยอมรับว่าอัลลอฮ์(ซบ.)เป็นร็อบ

 

มัน (أنظرني) ขอเวลา ขอโอกาส ขอผ่อนปรน

 

ขอถึงไหน……….

 

( الى يوم يبعثون ) มันขอโอกาสจนถึงวันกิยามัต

 

มันขอนานและไกลมาก ขอโอกาสจนถึงวันกิยามัต คือ ขอให้มีชีวิตอยู่ต่อไป

 

ก็เป็นคำขอที่หนักหน่วงพอสมควร ขอให้มีชีวิตอยู่ต่อไป อย่าเพิ่งลงโทษฉันในตอนนี้ ให้ฉันได้ทำภารกิจของฉันให้เสร็จสิ้นให้สมบูรณ์ก่อน

 

ซึ่งคำขอนี้ ก็ปรากฏอยู่ในซูเราะฮ์อื่นๆด้วย คำขอลักษณะนี้ มีใน…

ซูเราะห์อัล ฮิญรฺ โองการที่ 36

ซูเราะห์ ศ็อด โองการที่ 79

ซูเราะห์อะรอฟ โองการที่14

ซึ่งโองการที่เราอ่านไปนั้นอยู่ในซูเราะห์ฮิญรฺ ที่ 36

 

ดังนั้น เมื่อคำขออุทธรณ์มันได้เกิดขึ้น แน่นอน อัลลอฮ(ซบ)คือ ผู้เมตตาแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน เมตตาเสมอ เมตตายิ่ง ก็ได้กล่าวตอบคำอุทธรณ์ คำเสนอของอิบลิสว่า…

 

قال فانك من المنظرين

 

แท้จริงนั้น เจ้าเป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนปรน จะไม่ลงโทษเจ้าในเดี๋ยวนี้ แต่จะให้โอกาสเจ้า

 

ซึ่งอัลลอฮฺ ซบ. ก็ได้บอกว่าจะให้โอกาสเจ้า จนถึงวันไหน ซึ่งก็มีของเขต ให้โอกาสกับเจ้านั้น

 

الى يوم الوقت المعلوم

 

ให้โอกาสกับเจ้านั้นจนไปถึง

 

วันที่ถูกรู้กัน อันนี้คือ แปลง่ายๆ “ในวันที่วันเวลาของมันนั้นถูกรู้”

 

เหตุผลที่ผมไม่ได้ใส่คำแปลลงไปในเอกสาร ก็เพราะว่าอยากให้พวกเราเรียนรู้คำแปลโดยตรง อย่างเช่นคำ ว่า..

 

قال رب

โอ้พระผู้อภิบาล (انظرني) ขอเวลาให้กับฉัน

الى يوم يبعثون ตรงนี้นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน ก็มีความแตกต่างในการอธิบายระหว่างสองประโยคนี้

‘อิบลิส’ ขอโอกาสจนถึงวันกิยามัต

 

(الى يوم يبعثون ) คือ ประโยคที่ ‘อิบลิส’ ขอโอกาสจนถึงวันกิยามัต

 

(الى يوم يبعثون )คือ วันที่ถูกทำให้ฟื้นคืนชีพ

 

ซึ่งแน่นอนวันแห่งการฟื้นคืนชีพ คือ วันกิยามัต เป็นวันที่โลกนี้เสร็จสิ้น จบไปแล้ว เพราะวันฟื้นคืนชีพนั้นไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้ว

 

การฟื้นคืนชีพจะเกิดขึ้น ก็คือ ดุนยานี้สลายแล้ว เมื่อดุนยานี้เกิดการกิยามัต การฟื้นคืนชีพก็จะเกิดขึ้น

 

แต่ ‘อิบลิส’ ขอโอกาสของมันให้เลยวันกิยามัตขึ้นไปอีก ซึ่งจริงๆแล้ววันฟื้นคืนชีพ ก็คือ วันกิยามัตอยู่แล้ว แต่เป็นขั้นตอนหลัง

 

วันกียามัต คือ วันที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดิน ภูเขา ทะเล จะเอ่อล้น กลายเป็นทะเลเพลิง วันที่แผ่นดิน ดวงอาทิตย์ และภูเขาจะถูกเก็บ ดวงดาวทั้งหมดก็จะร่วงหล่น และหลังจากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น มนุษย์จึงจะฟื้นคืนชีพ หมายความว่า มันขอโอกาสข้ามโลก ขอโอกาสข้ามพิภพ

 

นี่คือ ความหมายประการแรก يوم يبعثون ฟื้นคืนชีพ วันฟื้นคืนชีพก็จะเกิดหลังจากปฐมบทของวันกิยามัตแล้ว

 

วันฟื้นคืนชีพทั้งหมด คือ หลังวันกิยามัต ไม่มีใครฟื้นคืนชีพก่อนวันกิยามัต

 

แต่คำตอบที่อัลลอฮ(ซบ)ให้ พระองค์ไม่ได้ตอบตรงตามที่มันขอ มันขอจนถึงวันฟื้นคืนชีพ แต่อัลลอฮ์(ซบ.)ก็ไม่ได้ให้ตามที่มันขอ แต่กล่าวว่า…

 

قال فانك من المنظرين

 

“เจ้าจะได้รับการผ่อนปรน”

 

แต่ว่า الى يوم الوقت المعلوم ไปยังวันๆหนึ่ง ซึ่ง คือ วันเวลาของมันเป็นที่เรารู้ๆกัน

 

อันนี้คือ ถ้าจะเอาตัฟซีรแบบลึกซึ้งนั้น ลึกซึ้งแบบสูงส่งเป็นอย่างมาก

 

การตัฟซีรเบื้องต้นมากกว่าคำแปล ก็คือว่า…

 

“อิบลิสไม่ได้ตามคำขออย่าง 100 เปอร์เซ็นต์”

 

สิ่งนี้ คือ เบื้องต้นก่อน เพราะมันขอจนถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ แต่ที่อัลลอฮ์(ซบ.)ตอบนั้น ให้มันแค่วันที่รู้กัน ตามวันเวลาที่เป็นที่รู้กัน

 

ซึ่งก็มีการหาคำตอบ ส่วนพวกที่หาคำตอบไม่ได้ หาคำตอบไม่เจอ ก็จะสรุปว่าอัลลอฮ์(ซบ.)ให้มัน

 

(يوم الوقت المعلوم ) ก็รวมวันกิยามัตไปด้วย คือ เหมารวมไปเลย ซึ่งจริงๆแล้วไม่ตรง มันไม่ใช่ เบื้องต้นก็จะลงลึกไปก่อน วันหนึ่งในโลกนี้ ก่อนวันกิยามัตจะเกิดขึ้น อำนาจการหลอกลวงอะไรของมันนั้นจะหมดไป

 

ซึ่งถามว่า ก่อนวันกิยามัต มีเหตุการณ์อะไรบ้าง ???

 

ก่อนวันกิยามัตเป็นที่รู้ว่า จะเข้าสู่ยุคอาคิรุซซามาน เป็นยุคสุดท้าย เราทุกๆคนอาจจะเคยได้ยินว่า ในก่อนวันกิยามัต ประตูเตาบัตจะถูกปิด จบสิ้นของการเตาบัต ซึ่งส่วนมากก็อธิบายว่าประตูเตาบัต จะถูกปิดไปในแง่ที่ลบ น้อยมากที่จะอธิบายไปในแง่ที่บวก

 

ประตูเตาบัตจะถูกปิดในแง่ที่บวก คือ ในวันนั้น มนุษย์ส่วนมากจะเป็นคนดี ซึ่งแตกต่างกับวันนี้ มนุษย์ส่วนมากยังเป็นคนชั่ว

 

ดังนั้น ก่อนวันกิยามัต มนุษย์ส่วนมากจะเป็นคนดี จะมีสังคมที่ดีงาม สังคมที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของอัลลอฮ์(ซบ) และคนที่ชั่วก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ในยุคนั้นคนที่ชั่วโดยกมลสันดาน ก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและจะไม่มีวันที่จะเตาบัต

 

หนึ่งในความหมายของคำว่า ‘ประตูเตาบัต’ จะถูกปิด คือ ไม่มีใคร ‘เตาบัตตน เตาบัตตัว’อีกต่อไปแล้ว

 

เหตุผลที่มนุษย์ส่วนมาก จะเป็นคนดีในวันนั้น หรือเราเรียกว่าในช่วงเวลานั้น ก็เพราะว่าอำนาจของ ‘อิบลิส’ หรือ ‘ไชฏอน’ หรือ ‘ซาตาน’นั้นเริ่มหมดลงไป

 

แต่ถึงอำนาจของมันจะหมดไป ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่ลวงหลอก ซึ่งมันยังคงลวงหลอก แต่จำนวนที่มันลวงหลอกได้นั้น น้อยเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น เปรียบเสมือนกับหมดอำนาจแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไม่มีลูกน้องเลย มีบ้างแต่มีน้อย หรือลูกน้องมีไม่เพียงพอ ที่จะทำตัวเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ได้อีกต่อไป

 

นี่คือ หนึ่งในความหมายเบื้องต้น และความหมายที่สมบูรณ์จากโองการต่างๆ ก็มีรีวายัตจำนวนมาก มายืนยันอีกครั้งหนึ่ง หมายถึง ความสมบูรณ์แห่งการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ)

 

แน่นอน !!! ก่อนการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ) นั้น โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี การพัฒนาการความเข้าใจของมนุษย์ที่มีต่อศาสนาและความเข้าใจของมนุษย์ที่มีต่อแผนร้ายต่างๆของไชฏอนมารร้าย ก็จะค่อยๆมีมากขึ้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ มนุษย์ไม่ได้เข้าใจอะไรมากมายและไม่ใช่อยู่ดีๆอิมามจะปรากฏตัวทันที

 

อิมามมะฮ์ดี(อ)จะปรากฏ ก็ต่อเมื่อมนุษย์เริ่มเข้าใจศาสนา มนุษย์เริ่มเข้าใจในธรรม มนุษย์เริ่มมีสติปัญญาที่สูงขึ้นๆ ซึ่งก็มีริวายัตเป็นจำนวนมากที่จะยืนยันในสิ่งๆนี้

 

يوم الوقت المعلوم คือ วันแห่งการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ) วันที่อิมามได้สถาปนารัฐอิสลามอันยิ่งใหญ่นี้ขึ้นมาในโลก อำนาจของอิบลิสก็จะหมดไปในวันนั้น

 

ดังนั้น จากโองการนี้ อัลลอฮ์(ซบ)ก็ได้อรรถาธิบาย รีวายัตและอัลกรุอานและอายะฮ์อื่นๆก็จะบอกว่า หมายถึง วันปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮดี(อ)

 

สิ่งนี้เราอธิบายพอสังเขป ซึ่งไม่จำเป็นต้องยกริวายัตต่างๆเพราะว่า เราต้องการให้มันเป็นบทเรียนแค่อรรถาธิบายอัลกุรอาน ทั้งนี้ก็จะบอกว่า ถ้าจะเอากันแบบตัฟซีรให้ครบถ้วนตามกระบวนนั้น เราก็จะต้องมาอธิบายคำว่า…

( يوم الوقت المعلوم ) อิบลิสก็พอใจ อย่างน้อยๆก็อีกเป็นหมื่นๆปี หลายหมื่นปีที่มันมีโอกาสได้ทำภารกิจของมันให้สมบูรณ์

 

 

 

♔ ภารกิจของมัน คือ ล้างแค้นมนุษย์ ♔

 

โอกาสที่ ‘อิบลิส’ได้รับจากอัลลอฮ์ (ซบ) มีเวลายาวนานเกือบๆที่จะถึงวันกิยามัตแล้ว แต่มันเอาโอกาสทั้งหมด ที่พระผู้เป็นเจ้าให้มานั้น เอาไปทำสิ่งที่เสียหาย เอาไปทำความชั่วต่อไป

 

‘อิบลิส’ไม่ได้ขอเวลาเพื่อการปรับปรุงตัว หรือเปลี่ยนแปลง หรือกลับเข้าหาพระองค์ แต่ทว่ากลับเอาวันเวลาที่เรียกง่ายๆว่า เอาโอกาสที่พระผู้เป็นเจ้าให้นั้น มาสานต่อความชั่วที่ตัวเองนั้นมีอยู่

 

ดังนั้น หลังจากที่อัลลอฮ์(ซบ)ผ่อนปรนให้กับมันจนถึง…

 

يوم الوقت المعلوم

 

ซึ่งเราได้อธิบายความหมายของโองการที่ลึกซึ้งของมันไป

 

กล่าวคือ เป็นช่วงของวัน ซึ่งจะเป็นวันไหนในห้วงเวลาไหนนั้น โองการนี้ก็ปรากฏในซูเราะฮ์ อัล-ฮิจญ์ร โองการที่ 37

 

قَالَ فَإِنَّكَ مِنَ الْمُنْظَرِينَ

 

พระองค์ตรัสว่า “ดังนั้น แท้จริงเจ้าอยู่ในหมู่ผู้ถูกประวิงเวลา”

——————————

 

ซูเราะฮ์ อัล-ฮิจญ์ร โองการที่ 38

 

إِلَىٰ يَوْمِ الْوَقْتِ الْمَعْلُومِ

 

จนกระทั่งถึงวันแห่งเวลาที่ถูกกำหนดไว้แล้ว”

 

—————————————-

 

และยังปรากฏในซูเราะฮ์ตุลศ็อด อายะฮ์ที่ 80

 

قَالَ فَإِنَّكَ مِنَ الْمُنْظَرِينَ

 

(พระองค์ตรัสว่า “ดังนั้น แท้จริงเจ้าอยู่ในหมู่ผู้ถูกประวิงเวลา”)

 

—————————————-

 

และซูเราะฮ์ตุลศ็อด อายะฮ์ที่ 81

 

إِلَىٰ يَوْمِ الْوَقْتِ الْمَعْلُومِ

 

(จนกระทั่ง ถึงวันแห่งเวลาที่ถูกกำหนดไว้แล้ว)

 

—————————————-

 

เมื่อรู้วันเวลา เมื่อรู้ว่าได้รับการผ่อนปรน ถึงแม้จะไม่ได้ตามที่ตัวเองขออย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม คือ อิบลิสได้จำนวน เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ประกาศเจตนารมณ์ ประกาศภารกิจที่มันจะทำทันที

 

เมื่อรู้ว่าอัลลอฮ์(ซบ.)ให้แล้ว คือ พระองค์ไม่ทรงคืนคำอยู่แล้ว และอิบลิส มันไม่บอกเหตุผลด้วย มันคงคิดว่าอัลลอฮ์(ซบ.)ไม่รู้ว่า มันขอเวลาไปทำอะไร?? อัลลอฮ์(ซบ.)ให้มันแล้วยิ่งดี เพื่อให้มันนั้นได้แสดง มันนึกว่ามันหลอกอัลลอฮ์(ซบ.)ได้

 

ตอนแรกมันไม่บอกว่า มันขออะไร ขอทำอะไร อัลลอฮ์(ซบ.) ก็ให้ไป 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ตามที่มันขอ เมื่อให้แล้วพระองค์ก็ไม่ได้คืนคำ หลังจากนั้น มันก็บอกกับพระองค์ว่ามันจะทำอะไร

 

قال رب

 

โอ้พระผู้อภิบาล

 

بما أغويتني

 

ด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้ฉันถูกหลงทาง ถูกทิ้งขว้างจากพระองค์ ด้วยสิ่งนั้น

 

สิ่งนั้น คือ อะไร? สิ่งที่ทำให้ฉันหลงทาง กลายเป็นผู้หลงทาง มันทำอิบาดัตมาหลายพันปี อยู่เฉยๆฉันกลายเป็นผู้หลงผิด อยู่เฉยๆฉันกลายเป็นผู้หลงทาง

 

ถามว่าตรงนี้ ด้วยสิ่งนั้นหมายถึงอะไร بما?

 

คำตอบ สิ่งนั้น คือ มนุษย์

 

ด้วยมนุษย์นั่นแหละ เพราะมนุษย์ เราเลยต้องเป็นแบบนี้ มันโทษมนุษย์ มันฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์มันบอกว่าเพราะมนุษย์ มันเป็นศัตรูกับเราจริงๆ เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่รู้ก็จงรู้ว่า มันเป็นศัตรูกับเราจริงๆ

 

ดังนั้น ด้วยสิ่งนั้น(มนุษย์)

 

بما أغويتني لأزينن لهم في الأرض

 

ด้วยเหตุนั้น หรือขอสาบานด้วยพวกนั่นแหละ ฉันต้องกลายเป็นผู้ที่หลงผิด

 

لأزينن لهم في الأرض ฉันจะทำให้พวกเขานั้น หลงใหลเพลิดเพลินในหน้าแผ่นดินนี้ ฉันจะทำให้ดุนยานี้สวยงาม ทำให้มันน่าหลงใหล น่าเพลิดเพลิน น่าทำทุกสิ่งทุกอย่าง

 

ซึ่งเราก็ไม่ต้องอธิบาย ซึ่งมันก็มีมากมายหลายรูปแบบ อันที่หนึ่งฉันจะทำให้เขาคิดแบบนี้ก่อน คือ อะไรก็ตามที่ทำให้ดุนยาน่าอยู่ ดุนยาน่าพิศวง ดุนยาน่าเพลิดเพลิน

 

สรุปเพื่อให้เข้าใจง่าย คือ เริ่มต้นอันแรก คือ ทำให้มนุษย์หลงในดุนยา

 

ถ้าเอาจากรากศัพท์เลย ก็คือ ทำให้ดุนยานั้นดูสวย ดูสวยงาม

 

คนที่หลงดุนยาเกือบทั้งหมด คือ คนที่มองดุนยาตรงกันข้ามกับที่อัลลอฮ์(ซบ)และรอซูล(ศ็อลฯ)บอก คือ มองตรงกันข้าม

 

ผู้ศรัทธาที่แท้จริง ต้องมองดุนยาเป็นดุนยา ไม่ใช่ตัวของวัตถุ จะต้องมองดุนยาเป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว ซึ่งเรามาอยู่ที่นี่(ดุนยา)เพราะว่าเรามีความจำเป็น นั้นคือ มุมมองของศาสนา

 

ส่วนคนที่ถูกทำให้หลงนั่น ก็คือ มองดุนยานี้สวยงาม

 

สรุปคือ การงานของอิบลิส / ชัยฏอน คือ ทำให้มนุษย์มองดุนยาสวยงาม

 

เพราะการทำให้มนุษย์ มองเห็นดุนยานี้สวยงามนั้น นั่นคือ การทำงานของอิบลิส / ของชัยฏอนนั่นเอง

 

หมายเหตุ : โองการประกอบบทความ

 

ซูเราะห์อัล ฮิญรฺ โองการที่ 36

 

قَالَ رَبِّ فَأَنْظِرْنِي إِلَىٰ يَوْمِ يُبْعَثُونَ

 

มันกล่าวว่า…

“โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ได้โปรดประวิงเวลาให้แก่ข้าพระองค์จนถึงวันฟื้นคืนชีพด้วยเถิด”

 

—————–

 

ซูเราะห์ ศ็อด โองการที่ 79

 

قَالَ رَبِّ فَأَنْظِرْنِي إِلَىٰ يَوْمِ يُبْعَثُونَ

 

มันกล่าวว่า…

“โอ้ พระเจ้าของข้า พระองค์ได้โปรดประวิงเวลาให้แก่ข้าพระองค์ จนถึงวันฟื้นคืนชีพด้วยเถิด”

 

—————————

 

ซูเราะห์อะรอฟ โองการที่ 14

 

قَالَ أَنْظِرْنِي إِلَىٰ يَوْمِ يُبْعَثُونَ

มันกล่าวว่า …

โปรดผ่อนผันข้าพระองค์จนถึงวันที่พวกเขา ถูกให้ฟื้นคืนชีพด้วยเถิด

—————————

ที่มา - เว็บไซต์ syedsulaiman.com

แสดงความเห็น